วันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2555

กำเนิดตุ๊กตาชาววัง


กำเนิดตุ๊กตาชาววัง


ภาพ:Tukkata_2.jpg

        
จากก้อนดินเหนียวท้องนาสีขุ่นมัว ขุดขึ้นมาปั้นแต่งระบายสีให้เป็นตุ๊กตาที่มีใบหน้าคมงาม ท่วงท่าลีลาอ่อนช้อย สวมใส่เสื้อผ้าสวยปราณีตด้วยปลายพู่กัน บ่งบอกถึงคุณค่าแห่งศิลปวัฒนธรรมไทย หลากหลายเรื่องราวอันมีที่มาแต่โบราณกาล
         จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า ตุ๊กตาดินเผาไทยที่เก่าแก่ที่สุดปรากฏอยู่ในสมัยทวาราวดี รือในราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 มักจะเป็นรูปคนจูงลิง ทำด้วยดินเผาสีแดง ตัวคนเป็นชาย มุ่นมวยผมไว้กลางศีรษะ นุ่งผ้าผืนเดียว มีลิงตัวน้อยๆ ที่ปลายเท้า สันนิษฐานว่าตุ๊กตาชนิดนี้อาจจะใช้เป็นของเล่นสำหรับเด็ก หรือใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา
         ต่อมาในสมัยสุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ การสร้างสรรค์ตุ๊กตาดินเผาก็ยังปรากฏออกมาในรูปแบบต่างๆ กัน ตามลักษณะนิสัยของคนยุคนั้นๆ ตามคติความเชื่อ และตามประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน เป็นต้นว่าตุ๊กตาเสียกบาลซึ่งทำกันมาตั้งแต่ยุคสุโขทัยสร้างขึ้นตามความเชื่อถือเพื่อปัดเป่าอันตรายแก่คนเจ็บหรือหญิงคลอดบุตรในครัวเรือน ตุ๊กตาล้มลุก ปั้นขึ้นสำหรับเป็นของเล่นของเด็กตุ๊กตาเจ้าพราหมณ์ ยังคงมีให้เห็นอยู่ตามชนบท ทำเพื่อนำไปแก้บนตั้งบูชาศาลเทพารักษ์ตุ๊กตาเคลือบดินเผาสมัยสุโขทัย ซึ่งปั้นเป็นรูปคนในอิริยาบถต่างๆ มีนักประวัติศาสตร์บางท่านกล่าวว่าคล้ายตุ๊กตาชาววังที่ชาวบางเสด็จทำกันอยู่ปัจจุบัน หากเป็นเช่นนั้นจริงนับว่าการทำตุ๊กตาชาววังของคนบางเสด็จจังหวัดอ่างทองได้รักษาแบบแผนวัฒนธรรมไทยเอาไว้อย่างดียิ่ง
         ตุ๊กตาชาววัง สุนทรียศาสตร์พื้นถิ่นนของชาวบ้านในยุคนี้ถือกำเนิดขึ้นในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีหลักฐานทางตัวอักษรปรากฏสืบต่อกันมาว่าเถ้าแก่กลีบ ข้าราชการฝ่ายในในพระราชสำนัก เป็นผู้ริเริ่มผลิตขึ้น โดยปั้นตุ๊กตาชาววังออกจำหน่ายให้แก่ข้าราชบริพารภายในพระบรมมหาราชวังดังนั้น ลักษณาการตุ๊กตาชาววังในสมัยก่อนจึงลอกเลียนแบบมาจากวิถีชีวิต การแต่งกาย วัฒนธรรม ประเพณีของชาววังทุกประการ สมคำเปรียบเปรยว่ายามจะนั่ง ก็ท้าวแขนอ่อนช้อย เหมือนตุ๊กตาชาววัง ซึ่งจะเน้นความพิเศษที่ขนาดเล็กจิ๋ว บางตัวมีหัวเท่าไม้ขีดไฟการปั้นแต่ละตัว ผู้ปั้นต้องใช้ความละเอียดละเมียดละไมอย่างมาก ชาววังสมัยก่อนนิยมซื้อสะสมเป็นของรักของชอบ หรือไว้สำหรับตกแต่งประดับประดาบ้านเรือน
         หัตถศิลป์ตุ๊กตาชาววังที่เคยเฟื่องฟูกลับซบเซาลงในรัชสมัยรัชกาลที่ 5เมื่อข้าราชบริพารบางคนย้ายออกไปจากพระบรมมหาราชวัง แล้วได้นำเอาศาสตร์นี้ติดตัวออกไปด้วย จึงไม่มีใครรู้รักจักทำต่อ ศิลปะการปั้นตุ๊กตาชาววังจึงจางหายไปนาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โปรดให้รื้อฟื้นการปั้นตุ๊กตาชาววัง
         ย้อนไปในราวปีพุทธศักราช 2519 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถโปรดให้รื้อฟื้นวิชาการปั้นตุ๊กตาชาววังขึ้นที่หมู่บ้านวัดตาล ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบางเสด็จ ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอป่ามก จังหวัดอ่างทองพระองค์ท่านรับสั่งให้ชาวบ้านชาวนาในหมู่บ้านที่สนใจและต้องการมีอาชีพเสริม นอกเหนือจากการทำนา ใช้เวลาว่างมาเรียนรู้และฝึกฝนการทำตุ๊กตาชาววังจากครูในโครงการศิลปาชีพพิเศษ โดยขอใช้ศาลาการเปรียญของวัดท่าสุทธาวาส วัดเก่าแก่คู่บุญของจังหวัดอ่างทองเป็นสถานที่ฝีกหัด จึงถือว่าอาชีพการทำตุ๊กตาชาววังนับเป็นโครงการในพระบรมราชินูปถัมภ์ จากเอกสารคน-รูป-ดิน เครือซิเมนต์ไทยรักษ์ไทยจัดทำเพื่อสื่อมวลชนในการพาชมการประดิษฐ์ตุ๊กตาชาววังที่หมู่บ้านบางเสด็จ อาจารย์ฉวีวรรณ เมืองสุวรรณ อาจารย์ประจำโรงเรียนวัดท่าสุทธาวาส เขียนถึงเรื่องตุ๊กตาชาววังในช่วงที่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถมีพระราชดำริส่งเสริมให้ราษฎรหารายได้ให้แก่ครอบครัวด้วยการปั้นตุ๊กตาชาววัง ไว้ตอนหนึ่งว่า
         “ก่อนหน้านี้ธรรมชาติไม่เข้าข้างชาวไร่ชาวนาเอาเสียเลย ที่อ่างทองและจังหวัดใกล้เคียงกิดฝนตกมากเกินความจำเป็นทำให้เกษตรกรอ่างทองได้ผลผลิตทางการเกษตรไม่ดีติดต่อกันหลายปี จนกระทั่งเมื่อปี 2519 สมเด็จพระราชินีท่านเสด็จฯทอดพระเนตรหมู่บ้านแถบอำเภอป่าโมก ซึ่งขณะนั้นมีการทำธูปเป็นอาชีพเสริมพระองค์ท่านจึงรับสั่งว่าชาวอ่างทองน่าจะทำงานฝีมือชนิดอื่นได้เช่นกัน เพราะการทำธูปก็ต้องใช้ฝีมือในการปั้นเหมือนกัน W
         จากวันนั้นเป็นต้นมา ชื่อหมู่บ้านบางเสด็จ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทองคือแหล่งผลิตตุ๊กตาชาววังที่ใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงแพร่หลายขจรขจายไปไกลทั่วโลก


ที่มา panyathai.or.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น